Blogroll

This is default featured slide 1 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 2 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 3 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 4 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 5 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

วันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

โลกระทึก"อุกกาบาต"ถล่มรัสเซีย

โลกระทึก"อุกกาบาต"ถล่มรัสเซีย แรงกว่าระเบิดนิวเคลียร์ 20 เท่า!


ระทึกขวัญกันไปทั้งโลก

เมื่อเห็นภาพข่าวสะเก็ด ′อุกกาบาต′ ขนาดใหญ่ พุ่งผ่านจากอวกาศ เข้ามาระเบิดและแตกตัวเหนือน่านฟ้าตอนกลางของประเทศรัสเซีย

ห่างจากพื้นดินเพียงแค่ไม่กี่สิบกิโลเมตร


สร้างความเสียหายให้กับสิ่งปลูกสร้าง อาคาร บ้านเรือนในพื้นที่ 6 เมืองของเขตเชลยาบินสก์ บริเวณเทือกเขาอูราล ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม ห่างจากกรุงมอสโกไปทางตะวันออก 1,500 ก.ม. 

แรงระเบิดในช่วงเช้าวันที่ 15 ก.พ.56 ทำให้เกิด ′คลื่นกระแทก′ หรือแรงอัดรุนแรงจนกระจกตามอาคาร-ที่พักต่างๆ แตกกระจุยกระจาย มีชาวหมีขาวได้รับบาดเจ็บประมาณพันกว่าคน

ด้วยเทคโนโลยีมือถือและกล้องบันทึกภาพขนาดพกพายุคปัจจุบัน จึงทำให้ชาวรัสเซียผู้เห็นเหตุการณ์ถ่ายภาพเหตุการณ์ดังกล่าวออกมาเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ต และสำนักข่าวชื่อดังไปทั่วโลก

มองดูแล้วราวกับภาพที่หลุดออกมาจากภาพยนตร์ไซ-ไฟ ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวู้ด สารพัดเรื่อง ที่มีเค้าโครงพูดถึงวันสิ้นโลกจากเหตุดาวเคราะห์น้อย หรืออุกกาบาตยักษ์พุ่งถล่มโลกมนุษย์ของเราจนราพณาสูร

ขณะเดียวกัน สถานการณ์ยิ่งน่าตื่นตระหนกยิ่งขึ้น เนื่องจากคืนวันเดียวกันนี้ นักดาราศาสตร์ได้ชี้เอาไว้ว่าจะมีดาวเคราะห์น้อย "2012 DA14" โคจรเฉียดโลกเข้ามาอีกดวง

อย่างไรก็ตาม ทิศทางการโคจรของ "2012 DA14" ก็เป็นไปตามการคำนวณ นั่นคือ ผ่านโลกไปโดยไม่ทำอันตรายใดๆ ทั้งสิ้น!



หลังเกิดเหตุ เศษอุกกาบาตถล่ม

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน สั่งการด่วนให้เจ้าหน้าที่กู้ภัยกว่า 20,000 คน กระจายกำลังลงพื้นที่เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในแคว้นเชลยาบินสก์ ทางภาคกลางซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับความเสียหายจากอุกกาบาตมากที่สุด

ทั้งนี้ วันถัดมา 16 ก.พ. ทางการรัสเซียได้รับรายงานผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มขึ้นจากวันแรก เป็นกว่า 1,200 คน 

ส่วนใหญ่มีบาดแผลตามร่างกายจากการถูกเศษกระจกบาด ซึ่งเกิดจากการได้รับความร้อนและคลื่นสั่นสะเทือนความถี่สูงของอุกกาบาต

นอกจากนี้ ยังมีรายงานบ้านเรือนและอาคารพาณิชย์ในพื้นที่ได้รับความเสียหายกว่า 3,000 แห่ง


กระทรวงสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติรัสเซีย แถลงว่า อุกกาบาตดังกล่าวพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศและแตกออกเป็นเสี่ยงๆ ที่ระยะ 30-50 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน 

1.ทะเลสาบเชบาร์คูล ตอนกลางรัสเซีย หนึ่งในจุดที่เศษอุกกาบาตตกใส่

2.กำแพงโรงงานถึงกับพังครืน

3.กระจกห้องเรียนพัง

4.ภาพจากหนังไซ-ไฟฮอลลีวู้ด จินตนาการวันโลกแตก

5.ผลจากคลื่นกระแทก ทำกระแจกแตกยับ

6.อาคารที่พักเสียหาย เพราะแรงระเบิดเศษอุกกาบาต

7.ชาวรัสเซียขับรถผ่านซากความเสียหาย

8.แรงอัดทำให้ฝ้าเพดานเปิดเปิง


ปลดปล่อยพลังงานมหาศาลหลายกิโลตันเทียบเท่าอาวุธนิวเคลียร์ ส่งชิ้นส่วนอุกกาบาตกระจายตัวในลักษณะฝนดาวตก 

โดยพบชิ้นส่วนขนาดใหญ่แล้ว 3 ชิ้น ชิ้นหนึ่งทำให้เกิดหลุมใหญ่ที่ทะเลสาบเชบาร์คูล พร้อมทั้งปฏิเสธข่าวที่ว่ากองทัพอากาศรัสเซียยิงจรวดขึ้นไปทำลายอุกกาบาต 

สำหรับพื้นที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือเมืองเชลยาบินสก์ ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม และมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ด้วย แต่ไม่ได้รับอันตรายใดๆ 

โรงงานที่เสียหายหนักที่สุดคือโรงงานสังกะสี ซึ่งหลังคาพังถล่ม

นักวิทยาศาสตร์ของสำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ "นาซ่า" ระบุว่า 

ปรากฏการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มเกิดขึ้นเพียงทุก 100 ปีเท่านั้น

โดยครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2451 ที่แถบ ′ทังกัสก้า′ ของรัสเซียเช่นกัน 

ส่วนการระเบิดของอุกกาบาตในวันที่ 15 ก.พ.56 ที่เพิ่งผ่านมาสดๆ ร้อนๆ มีความรุนแรงเทียบเท่าระเบิดทีเอ็นที 300,000 ตัน และรุนแรงกว่า ′ระเบิดนิวเคลียร์′ ที่กองทัพสหรัฐทิ้งใส่เมืองฮิโรชิมาของญี่ปุ่น เมื่อช่วงสงครามโลก ครั้งที่ 2 ถึง 20 เท่า!

ในส่วนของดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 นาซ่าถ่ายทอดสดนาทีโคจรเฉียดโลกผ่านทางเว็บไซต์ www.ustream.tv/nasajpl2 สดจากหอสังเกตการณ์ ประเทศออสเตรเลีย ในภาพมองเห็นดาวเคราะห์น้อยโคจรผ่านเข้ามาภายในเส้นทางวงโคจรของดาวเทียม 

จากการศึกษานักดาราศาสตร์พบว่า มีอุกกาบาตขนาดเท่าๆ กับ 2012 DA14 ที่โคจรใกล้โลกแบบนี้อีกกว่า 500,000 ดวง ซึ่งคิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์ของอุกกาบาตที่โคจรมาใกล้โลกทั้งหมด 

หากอุกกาบาตขนาดเท่า 2012 DA14 ชนโลก จะเกิดเหตุคล้ายกับการเกิดระเบิดที่ทุ่งทังกัสก้าในแคว้นไซบีเรียของรัสเซีย เมื่อปี 2451 ซึ่งทำให้เกิดทุ่งราบกว้างกว่า 2,200 ตารางกิโลเมตร โดยขนาดของอุกกาบาตที่ทำลายทังกัสกามีขนาดเล็กกว่า 2012 DA14 เพียงเล็กน้อย



ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ของไทยก็ได้อธิบายให้ความรู้กรณีอุกกาบาตถล่มรัสเซีย และ ดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 

ภาพใหญ่ซ้าย-ดีพอิมแพ็กต์ หนังอเมริกันที่ฉายภาพวันดาวเคราะห์น้อยถล่มโลก

1เหตุการณ์จริงราวกับในฉากหนังไซ-ไฟ

2.ภาพนาทีอุกาบาตพุ่งลงมาแล้วระเบิด

3.เส้นทางวิ่งของอุกาบาตเหนือฟ้ารัสเซีย


เริ่มจากดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า สดร.ใช้กล้องโทรทรรศน์ 2.4 เมตร ที่หอดูดาวแห่งชาติ จ.เชียงใหม่ เฝ้าติดตามการเคลื่อนที่และตำแหน่งของ 2012 DA14 อย่างใกล้ชิด ยืนยันว่าไม่มีการพุ่งชนโลก หรือส่งผลกระทบต่อโลกใดๆ ทั้งสิ้น

จากการคำนวณวงโคจรของดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 พบว่าเคลื่อนที่พาดผ่านเข้ามาทางตอนเหนือของโลกในเวลาประมาณ 02.25 น. ของเช้าวันที่ 16 ก.พ. ตามเวลาในประเทศไทย และจะอยู่ในเงาของโลกประมาณ 18 นาที แต่สังเกตด้วยตาเปล่าไม่ได้ เพราะมีขนาดเล็กและมีความสว่างค่อนข้างน้อย จึงจำเป็นต้องใช้กล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ในการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อยดังกล่าว 

"ถึงแม้ดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14 จะเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรเข้ามาเฉียดใกล้โลกมากที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบ แต่ขอยืนยันว่าจะไม่มีโอกาสชนโลกแต่อย่างใด" รองผอ.สดร.กล่าว



ดร.ศรัณย์ระบุด้วยว่า การเกิดอุกกาบาตตกในภาคกลางของรัสเซีย ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวพันกับดาวเคราะห์น้อย 2012 DA14

เหตุที่แดนหมีขาว สันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าเป็น "อุกกาบาตขนาดเล็ก" ที่หลุดเข้ามาในวงโคจรของโลก และระเบิดในบรรยากาศโลกทำให้เห็นเป็นแสงสว่างวาบ อุกกาบาตขนาดเล็กนี้เข้ามาสู่บรรยากาศด้วยความเร็วที่มากกว่าเสียง ทำให้สังเกตเห็นภาพแสงขาวๆ พุ่งพาดผ่านท้องฟ้าก่อนที่จะมีเสียง และคลื่นกระแทกตามมา และเนื่องจากอุกกาบาตชิ้นนี้ระเบิดในบรรยากาศ จึงยังไม่พบรายงานว่ามีผู้พบเห็นเศษชิ้นส่วนของอุกกาบาตนี้

ทั้งนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้แน่ชัดว่าวัตถุนี้คืออะไรจนกว่าจะนำชิ้นส่วนมาศึกษาวิเคราะห์หาองค์ประกอบและที่มาของวัตถุดังกล่าว

ตามปกติแล้วจะมีอุกกาบาตขนาดเล็กหลุดเข้ามาในบรรยากาศของโลกทุกๆ วัน โดยทั่วไปไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ แต่ในครั้งนี้วัตถุนี้อาจมีขนาดใหญ่กว่าและมีมวลรวมหลายตัน เมื่อเข้ามาในบรรยากาศโลกด้วยความเร็วสูง จึงเกิดการระเบิดเหนือพื้นโลก 20-30 ก.ม. เห็นแสงสว่างวาบและมีเสียงระเบิดตามมาเป็นระลอกในภายหลัง

ปัจจุบันถึงแม้ว่าจะมีโครงการเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกของนาว่าและหลายหน่วยงาน ที่คอยติดตามวัตถุในลักษณะเช่นนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจจับวัตถุที่มีขนาดเล็กๆ ที่อาจมีวงโคจรที่ผ่านเข้าใกล้โลกได้ทั้งหมด เนื่องจากมีความสว่างน้อย และมีจำนวนมากนับล้านวัตถุ



ด้านรศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสดร. กล่าวถึงกรณีมีสะเก็ดอุกกาบาตตกลงบริเวณเทือกเขาอูราล ประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ว่า

สะเก็ดอุกกาบาตดังกล่าวคงเป็นส่วนหนึ่งของดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อย ไม่น่าจะมาจากดาวเคราะห์น้อย "2012 DA14" เนื่องจากโคจรอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของโลก แต่รัสเซียที่ถูกอุกกาบาตชนนั้นอยู่ทางทิศเหนือ

และเนื่องจากมีขนาดเล็กทำให้เครื่องมือการตรวจจับวัตถุไม่สามารถพบเห็นได้ จนกระทั่งมาเห็นเป็นภาพลูกไฟเคลื่อนที่อยู่บนท้องฟ้า ซึ่งเกิดจากการที่วัตถุเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลกทำให้ติดไฟแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ไม่น่าจะเกิดจากการที่กองทัพอากาศยิงจรวดใส่ จนกระทั่งระเบิดเกิดแรงดันขนาดใหญ่

วัตถุดังกล่าวมีน้ำหนักมากและเดินทางด้วยความเร็วสูงก็ทำให้เกิดคลื่นกระแทก จึงเป็น 2 สาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งกระจกแตก ตึกร้าว หรือหลังคาถล่ม และทำให้อุณหภูมิลดลง ไม่ใช่เกิดจากการที่วัตถุนั้นตกลงกระทบโลก เพราะมีการคาดการณ์ว่าสะเก็ดอุกกาบาตก่อนที่จะแตกกระจายหลังจากเสียดสีชั้นบรรยากาศน่าจะหนักประมาณ 10 ตัน ซึ่งถ้าหากมันตกกระทบพื้นโลกความเสียหายคงจะประเมินค่าไม่ได้

ปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คล้ายกับที่เกิดในประเทศไทยเมื่อปี 2552 ที่จ.พิษณุโลก พบเศษอุกกาบาตขนาดเท่ากำปั้นตกลงใส่หลังคาบ้านประชาชน ซึ่งเราก็ไม่สามารถจะบอกหรือคำนวณได้ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อไร เนื่องจากมันมีขนาดเล็ก

"ไม่ต้องตกใจหรือตื่นกลัวต่อเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ขอให้ตระหนักเอาไว้บ้างว่ามันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นปกติทุกวันของโลก เพราะวันๆ หนึ่งจะมีเศษอุกกาบาตตกลงมาเป็นตันตามทะเล มหาสมุทร หรือป่าเขา แต่เนื่องด้วยปัจจุบันความเป็นชุมชนเมืองของมนุษยชาติได้ขยายตัวมากขึ้น ทำให้โอกาสที่จะถูกวัตถุนอกโลกพุ่งชนก็มีมากขึ้นตามไปด้วย" ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติกล่าว พร้อมเตือนสติไปในขณะเดียวกัน